ฉนวนกันความร้อน มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีคุณสมบัติในการใช้งานอย่างไร (Insulation sheet for Architectural)
ฉนวนกันความร้อนคืออะไร คือวัสดุที่สามารถสกัดความร้อนไม่ให้ส่งผ่านไปยังส่วนอื่น ๆ โดยมีลักษณะเบา ประกอบด้วยฟองอากาศเล็ก ๆ จำนวนมากซึ่งมีคุณสมบัติสกัดกั้นความร้อนให้อยู่ในฟองอากาศ จึงไม่นำพาความร้อนไปยังส่วนอื่น ๆ ซึ่งในด้านการตกแต่งบ้าน นิยมนำมาใช้ติดตั้งไว้บนโครงหลังคาบ้าน เพื่อลดความร้อนแรงของแสงอาทิตย์ไม่ให้ส่งผ่านเข้ามาในบ้าน จนทำให้บ้านเกิดความร้อน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ติดตั้งบริเวณฝ้าเพดานได้เช่นกัน
ฉนวนแต่ละชนิด จะมีการต้านทานความร้อนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งฉนวนที่ดีจะต้องต้านทานความร้อนที่ผ่านจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งให้ลด ลงเหลือน้อยที่สุด ทั้งนี้ ถ้า ค่าสัมประสิทธิ์ของการนำความร้อน ( ค่า K) ยิ่งน้อย แสดงว่าเป็นฉนวนที่สามารถต้านทานความร้อนได้ดีกว่า
ฉนวนกันความร้อนมีกี่ชนิด
1. ฉนวนอลูมิเนียมฟอยล์ (Aluminium Foil)
มีลักษณะเป็นแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ 2 หน้า พื้นผิวมีความบางเรียบ และมีความเหนียว จึงทำให้ค่อนข้างคงทน ไม่ฉีกขาดง่าย หน้าที่ในการสะท้อนความร้อน ซึ่งหากเลือกใช้อลูมิเนียมฟอยล์บริสุทธิ์ทั้ง 2 ด้าน จะสามารถสะท้อนความร้อนได้สูงถึง 95-97% ฉนวนอลูมิเนียมฟอยล์ช่วยสะท้อนความร้อน แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันความร้อนที่เข้าสู่ภายในบ้านมากนัก จึงมักจะติดตั้งในส่วนบริเวณของโครงหลังคาและควรใช้งานร่วมกับฉนวนประเภทอื่นๆ แต่ฉนวนประเภทนี้ เป็นฉนวนกันความร้อนที่หาซื้อง่าย ราคาไม่สูงมากนัก อีกทั้งยังไม่มีสารระคายเคืองหรือเป็นพิษอีกด้วย
ข้อดี/คุณสมบัติ
- มีค่าการแผ่รังสีความร้อน (Emissivity) ของผิวอลูมิเนียมต่ำ
- ประสิทธิภาพในการสะท้อนความร้อนสูงสุด 97%
- มีความทนทานต่อแรงดึง จึงทำให้ไม่ฉีกขาดง่าย
- เป็นฉนวนกันความร้อนที่ไม่มีสารระคายเคือง หรือเป็นพิษต่อมนุษย์
- ราคาประหยัดและหาซื้อได้ง่าย
- ทนต่อความชื้นได้ค่อนข้างดี
ข้อเสีย/ข้อจำกัด
- เป็นฉนวนที่ไม่มีคุณสมบัติเรื่องการกันเสียง
- ถึงแม้จะมีค่าสะท้อนความร้อน แต่ไม่กันความร้อนเข้าตัวบ้าน จึงควรติดตั้งในบริเวณโครงหลังคา และติดตั้งฉนวนประเภทอื่นๆ เพื่อเสริมคุณสมบัติกันความร้อน
ราคาโดยประมาณ : ราคาเริ่มต้น ม้วนละ 1,000 บาท
2. ฉนวนใยเซลลูโลส (Cellulose)
ฉนวนป้องกันความร้อนใยเซลลูโลส เป็นฉนวนที่มาจากกระบวนการรีไซเคิล ด้วยการนำเยื่อไม้หรือเยื่อกระดาษที่ใช้แล้วมาย่อยจนละเอียด และประสานเข้าด้วยกันด้วยบอแร็กซ์ ฉนวนประเภทนี้มีให้เลือกด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ ในลักษณะแบบเส้นใยอัดเป็นแผ่น แบบคลุม และแบบฉีดพ่น ซึ่งในปัจจุบันบางยี่ห้อมีการประยุกต์ให้สามารถป้องกันการลามไฟได้ โดยการใส่สารช่วยกันลามไฟลงในเยื่อกระดาษ เพื่อให้สามารถป้องกันไฟได้ระดับหนึ่ง หรือเมื่อโดนไฟไหม้จะมีควันและดับไปเอง แต่ในกรณีนี้ต้องผ่านการผสมด้วยองค์ประกอบที่ถูกต้อง ฉนวนใยเซลลูโลสจึงเหมาะกับการประยุกต์ใช้งานผนังห้องหรือ ผนังของอาคาร รวมถึงใต้หลังคาของอาคาร
ข้อดี/คุณสมบัติ
- ฉนวนใยเซลลูโลสบางแบรนด์ มีคุณสมบัติกันความร้อนได้สูงสุด 90%
- ฉนวนใยเซลลูโลสบางแบรนด์ สามารถลดเสียงก้องเสียงสะท้อนได้ถึง 75%
- ตัววัสดุมีความเสี่ยงต่อการระคายเคืองของผิวหนังต่ำ
- มีรูปแบบให้เลือก ทั้งแบบเส้นใยอัดเป็นแผ่น แบบคลุม และแบบฉีดพ่น
- เป็นวัสดุรีไซเคิล
ข้อเสีย/ข้อจำกัด
- ฉนวนรูปแบบพ่น การควบคุมความหนาแน่นอาจไม่ได้มาตรฐานตามกำหนด มีโอกาสทำให้ฉนวนยุบตัวลงทีละน้อย
- เป็นเส้นใยธรรมชาติ ติดไฟได้ จึงมักมีการใส่สารไม่ลามไฟ
- มีโอกาสหลุดล่อนได้
- ไม่ทนน้ำและความชื้นมากนัก
3. ฉนวนโพลียูริเทน (Polyurethane)
ฉนวนโพลียูริเทน หรือ ฉนวน PU Foam เป็นเทคโนโลยีการฉีดโฟมเพื่อป้องกันความร้อน มีเนื้อที่ละเอียด โครงสร้างเป็นเซลล์ปิด( Closed Cell) มีช่องอากาศเป็นโพรง เรียกว่า Air Gap เป็นจำนวนมาก จึงสามารถแนบไปกับแผ่นใต้หลังคาได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเรื่องระบายความร้อน ฉนวนโพลียูริเทนมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ แบบสำเร็จรูปที่มาพร้อมกับแผ่นหลังคา กับแบบโฟมสำหรับฉีดพ่น ทางเราจึงเลือกใช้ฉนวนพียูโฟมเพื่อกันความร้อน ทั้งส่วนของผนังและหลังคา
ข้อดี/คุณสมบัติ
- กันความร้อนได้ดีมากที่สุดเมื่อเทียบกับฉนวนประเภทอื่นๆ
- สามารถลดการแผ่รังสีจากแสงแดดซึ่งผ่านทางหลังคาได้มากกว่า 90%
- สามารถป้องกันเสียงรบกวนได้ดี
- ป้องกันการรั่วซึมกันความชื้น และกันสนิมได้เป็นอย่างดี
- ใช้ได้ดีกับหลังคาทุกประเภท เช่น กระเบื้อง สังกะสี อลูมิเนียม คอนกรีต เหล็ก
- มีเนื้อที่ละเอียด สามารถแนบไปกับแผ่นใต้หลังคาได้เป็นอย่างดี
- ฉนวนโพลียูริเทนแบบโฟมสำหรับฉีดพ่น สามารถนำไปฉีดพ่นไว้บริเวณใต้หลังคาเก่าได้
- สามารถหุ้มผนังห้องเย็นได้ทุกด้าน
ข้อเสีย/ข้อจำกัด
- กรณีไฟไหม้ขึ้นจะสามารถติดไฟได้ ณ บริเวณจุดนั้น แต่ไม่เกิดการลุกลามไฟ
- เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ มีโอกาสเกิดควันพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพในการสูดดม
- มีจุดหลอมเหลวต่ำ หากโดนอุณหภูมิร้อนจัดอาจทำให้เปลี่ยนสภาพ
- การฉีดพ่นหากช่างขาดความเชี่ยวชาญ อาจทำให้ฉนวนฟุ้งกระจายได้
ราคาเริ่มต้น ประมาณ 300 บาท/ตารางเมตร
4. ฉนวนแคลเซี่ยมซิลิเกต (Calcium Silicate)
ฉนวนแคลเซี่ยมซิลิเกต คือ ฉนวนที่มีลักษณะพรุน ส่วนผสมประกอบไปด้วย ทราย ซิลิเซียส น้ำปูนขาว ตามด้วยเส้นใยเพื่อเพิ่มการเสริมแรง มักจะไม่ผสม Asbestos จึงทำให้ไม่มีสารพิษ ฉนวนแคลเซี่ยมซิลิเกต มีทั้งแบบเป็นใยแร่ และเส้นใยสังเคราะห์ เป็นฉนวนที่มีความสามารถในการปรับตั้งค่าในแต่ละอุณหภูมิได้รวดเร็วตามสภาพงาน สามารถตัดต่อเหมือนแผ่นยิบซั่ม แต่มีคุณสมบัติในการต้านทานความร้อน ทาสีทับได้ และค่อนข้างทนไฟ นิยมนำไปใช้ในการหุ้มท่อและภาชนะในกระบวนการทางอุตสาหกรรม
ข้อดี/คุณสมบัติ
- มีคุณสมบัติในการต้านทานความร้อน
- ไม่มีส่วนผสมของใยหิน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- มีคุณสมบัติดูดซับเสียงได้ดี
- มีความหนาแน่นสูง รับแรงกระแทกได้ดี
- สามารถตัดต่อ หรือทาสีทับได้
- ต้านไฟไหม้ได้ดี โอกาสติดไฟหรือลามไฟต่ำ
ข้อเสีย/ข้อจำกัด
- ไอน้ำแทรกซึมได้ง่าย
- การดูดซึมน้ำสูง
ราคาโดยประมาณ : 150 – 2,000 บาท/แผ่น
5. ฉนวนใยแก้ว (Microfiber)
ฉนวนใยแก้ว เส้นใยไฟเบอร์เล็กๆ โครงสร้างของเส้นใยที่ไม่ทึบ คล้ายกับรูพรุน จึงสามารถช่วยลดปริมาณความร้อนที่จะผ่านเข้าสู่ตัวอาคารได้มาก นอกจากนี้ ตัวแผ่นฟอยล์ด้านล่างยังช่วยกั้นไม่ให้ความร้อนบริเวณด้านในฉนวนออกมา อีกทั้งยังมีคุณสมบัติด้านการกันเสียงที่ดี น้ำหนักเบาและมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้เมื่อถูกกดทับจะสามารถคืนตัวได้เร็ว
ข้อดี/คุณสมบัติ
- มีคุณสมบัติการนำความร้อนต่ำ
- ช่วยลดปริมาณความร้อนที่จะผ่านเข้าสู่ตัวอาคาร
- ป้องกันเสียงรบกวนได้ดี
- มีความยืดหยุ่นได้ดี เมื่อถูกกดทับจะสามารถคืนตัวได้เร็ว
- มีน้ำหนักเบา ทนทาน ไม่เสื่อมสภาพ
- ป้องกันแมลงหรือเชื้อราได้ดี
ข้อเสีย/ข้อจำกัด
- ไม่มีคุณสมบัติกันลามไฟ
- เส้นใยอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง
- มีโอกาสเกิดละอองขนาดเล็กๆ เมื่อเสื่อมสภาพ
- ไม่เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่เปิดโล่ง
- ตัวประสาน (binder) อาจลุกไหม้ได้เมื่อติดไฟ
- อัตราการแทรกซึมของไอน้ำสูง จึงควรมีวัสดุหุ้มกันไอน้ำ
ราคาโดยประมาณ : ม้วนละ 1,500 บาทขึ้นไป
ที่มา https://www.wazzadu.com/